วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

WHAT'S SPF

SPF คือ (Sun Protection Factor)หรือแปลเป็นไทยว่า ค่าการป้องกันแสงแดด ถ้า เคยตากแดดแล้วผิวไหม้แดง ในเวลา 15 นาที หากทายากันแดดที่มี SPF= 6 ผิวจะไหม้ในเวลาเป็น 6 เท่าคือ 90 นาที (6x15=90) ถ้าค่า SPF= 8 ผิวจะไหม้ในเวลา 2 ชั่วโมง (8x15=120)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีคำนิยามใหม่ของค่า SPF (Sun Protection Factor) โดยใช้สูตรสำหรับหาค่า SPF คือ

SPF = MED บริเวณที่ทายากันแดด / MED บริเวณที่ไม่ได้ทายากันแดด


โดย MED นั้นย่อมาจาก minimal erythematous dose คือ ปริมาณแสงแดดที่น้อยที่สุด ที่ทำให้เกิดอาการแดงที่ผิวหนัง ซึ่ง อาการแดงนั้นเป็นจุดที่สังเกตเห็นด้วยตา มีการศึกษาพบว่า ปริมาณแรงที่เป็น suberythemal dose (คือปริมาณแสงที่ยังน้อยกว่าจะทำให้เกิดอาการแดง) ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังและมีการทำลายเซลล์ของผิวหนังเกิดขึ้น แล้ว ดังนั้นในอนาคตอาจต้องมีวิธีที่จะวัดการทำลายผิวหนังของแสงแดดที่ดีกว่า อาการแดง เช่น การดูลักษณะของเซลล์ผิวหนังที่เปลี่ยนไปจากการไหม้แดด (sunburncell) การดูลักษณะของเส้นใยอิลาสตินที่เปลี่ยนรูปร่าง การลดลงของจำนวน Langerhans cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน เพื่อหาประสิทธิภาะของการกันแดด
โดยที่ปริมาณของยากัน แดดที่เป็นมาตรฐานในการหาค่า SPF นั้น ต้องทายากันแดดปริมาณ 2 มิลลิกรัม ต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร ดังนั้นหากปริมาณแสงแดดที่จะทำให้บริเวณที่ทายากันแดดนั้นเกิดอาการแดง มีปริมาณมากกว่าบริเวณที่ไม่ได้ทายากันแดด 5 เท่า ยากันแดดนั้นก็จะมีค่า SPF 5 ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นจะแปลว่าปริมาณแสงเป็นเวลาแทน
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า
การใช้ค่า MED นี้ อาจไม่สะท้อนถึงประสิทธิภาพภายในการป้องกันผิวหนัง จากการทำลายของแสงแดด นั่นคือยากันแดดถึงจะป้องกันไม่ให้ผิวหนังแดงได้ แต่ก็ยังอาจเกิดการเสื่อมของผิวหนังขึ้นแล้ว
ปริมาณของการใช้ยากันแดดในการหาค่ามาตรฐาน คือ ต้องทายากันแดด 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตรนั้น นับว่ามากกว่าปริมาณการใช้ในชีวิตจริง คนปกติจะทายากันแดดแค่ 0.5 ถึง 1 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ หากทายากันแดดมากไปจะเกิดปัญหาด้านความมันและความสวยงาม
สำหรับยากันแดดชนิดที่ละลายน้ำได้น้อยนั้น มีชื่อคือ
Water resistant หมายถึงการหาค่า SPF หลังอยู่ในน้ำ 40 นาที
Waterproof (=very water resistant) หมายถึงการหาค่า SPF หลังอยู่ในน้ำ 80 นาที
โดยการใช้ยากันแดดตามค่า SPF นี้มักดูตามลักษณะของสีผิวคือ
ถ้าผิวไหม้แดดง่าย โดยผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนยาก ใช้ค่า SPF 20-30 (Ultra high)
ถ้าผิวไหม้แดดง่าย โดยผิวอาจมีสีแทนนิดหน่อย ใช่ค่า SPF 12-20 (Very high)
ถ้าผิวไหม้แดดปานกลาง และผิวค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแทนใช้ค่า SPF 8-12 (High)
ถ้าผิวไหม้แดดได้น้อย และผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้เสมอ ใช่ค่า SPF 4-8 (Moderate)
ถ้าผิวไหม้แดดยากมาก และผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้อย่างมาก ใช้ค่า SPF 2-4 (Minimal)
ถ้า ดูตามนี้จริงๆ แล้ว อย่างผมซึ่งน่าจะจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ 5 คือโดนแดดอย่างไร ก็ไม่ไหม้เสียที จะมีก็แต่ผิวคล้ำดำปี๋ ก็ควรจะใช้ SPF แค่ 2-4 เท่านั้นเอง
เมื่อดูจากค่า SPF และปริมาณการดูดซับรังสียูวีบี พบว่า
ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50%
ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75%
ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5%
ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3%
ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95%
ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7%
ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8%
ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98%
เมื่อ ดูตามนี้จะเห็นว่า เมื่อใช้ยากันแดดค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3% ซึ่งเมื่อเพิ่ม SPF ขึ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นไม่มากนัก และยากันแดดที่มีค่า SPF สูงมักมีปัญหาด้านความงามและมีราคาแพง จากมุมมองนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ SPF สูงนัก
แต่ก็มี ปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้และมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยากันแดด เช่น การทา การสวมใส่เสื้อผ้า การมีเหงื่อออก ลม เหงื่อ การว่ายน้ำ ฯลฯ และมีความจริงที่ว่า ยากันแดดที่มีค่า SPF สูงนั้น จะมีประสิทธิภาพในการกันแสงแดดในช่วงยูวีเอ โดยเฉพาะยูวีเอ II ที่ดีขึ้น ซึ่งรังสีตัวนี้ทำให้เกิดการเสื่อมของผิวหนังได้มาก นอกจากนั้นการหาค่า SPF จะเป็นการหาค่าในห้องทดลอง ซึ่งเมื่อนำยากันแดด มาใช้ในชีวิตจริงจะพบว่ามีค่า SPF น้อยกว่าที่ระบุเสมอ ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง
จึงแนะนำว่า ควรใช้ยากันแดดค่า SPF สูง (15 ขึ้นไป) ในกรณีที่ต้องตากแดด เป็นเวลานานติดต่อกันและใช้ค่า SPF ต่ำ ในกรณีที่โดนแดดเป็นครั้งคราวระหว่างวันครับ สำหรับข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งมาจากการประชุมของสมาคมศิษย์เก่าสถาบันโรคผิวหนัง โดยมีอาจารย์จิโรจ สินธวานนท์ เป็นผู้บรรยาย
[ ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2544 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น